เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 3. จตุโปสถิยชาดก (441)
3. จตุโปสถิยชาดก (441)
ว่าด้วยบุคคลทั้ง 4 รักษาอุโบสถ
(วรุณนาคราชกล่าวว่า)
[24] นรชนใดไม่ทำความโกรธในบุคคลที่ควรโกรธ
และไม่โกรธในกาลไหน ๆ
นรชนนั้นเป็นสัตบุรุษ
สัตบุรุษนั้นแม้จะโกรธก็ไม่เปิดเผยความโกรธ
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[25] นรชนใดมีท้องพร่องอยู่ ยังอดทนต่อความหิวได้
ฝึกตนได้ มีตบะ ดื่มน้ำและบริโภคอาหารพอประมาณ
ไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(ท้าวสักกะตรัสว่า)
[26] นรชนใดละการเล่นและความยินดีในกามทั้งปวงเสียได้
ไม่พูดเหลาะแหละอะไร ๆ ในโลก
งดเว้นจากการประดับตบแต่งร่างกายและจากเมถุนธรรม
นรชนนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก
(พระเจ้าธนัญชัยได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[27] อนึ่ง นรชนใดสละความหวงแหนและโลภธรรมทั้งปวงได้
ด้วยปัญญาเครื่องกำหนดรู้
นรชนนั้นแลผู้ฝึกตน มีความมั่นคง
ไม่ยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นของเรา หมดความหวัง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :325 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [10. ทสกนิบาต] 3. จตุโปสถิยชาดก (441)
(พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดพากันถามวิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[28] พวกข้าพเจ้าขอถามท่านผู้มีปัญญาไม่ทราม รู้สิ่งที่ควรทำ
พวกข้าพเจ้าเกิดมีการโต้แย้งกันในถ้อยคำทั้งหลาย
ในวันนี้ ขอท่านจงตัดความสงสัยลังเลใจให้ด้วย
จงช่วยข้าพเจ้าทั้งหมดให้ข้ามพ้นความสงสัยลังเลใจนั้นเสีย
(วิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[29] บัณฑิตเหล่าใดได้เห็นเนื้อความ
บัณฑิตเหล่านั้นจึงจะกล่าวได้อย่างแยบคายในกาลนั้น
ขอเดชะพระองค์ผู้จอมชน ท่านผู้ฉลาดทั้งหลาย
จะแนะนำเนื้อความแห่งถ้อยคำที่ยังมิได้บอกกล่าวได้อย่างไรหนอ
[30] ก็พญานาคราชกล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
พญาครุฑบุตรของนางวินตากล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
ราชาแห่งคนธรรพ์กล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
ราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้ประเสริฐกล่าวสรรเสริญเรื่องอะไร
(พระราชาทั้ง 4 พระองค์ตรัสกับวิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า)
[31] พญานาคกล่าวสรรเสริญขันติ
พญาครุฑบุตรของนางวินตากล่าวสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย
ราชาแห่งคนธรรพ์กล่าวสรรเสริญการละความอภิรมย์
พระราชาแห่งชาวแคว้นกุรุผู้ประเสริฐกล่าวสรรเสริญความไม่กังวล
(วิธุรบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[32] คำเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสุภาษิต
ก็ในคำเหล่านี้ หาคำที่เป็นทุพภาษิตไม่ได้สักข้อเดียว
และคุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้มีอยู่ในนรชนใดอย่างมั่นคง
เหมือนอย่างซี่กำที่สอดใส่ไว้ในดุมเกวียน
นรชนนั้นแลผู้พรั่งพร้อมด้วยธรรมทั้ง 4 ประการ
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นสมณะในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :326 }